วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2555

เสาหลักที่ 2

ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ของอาเซียนเริ่มมีเป้าหมายชัดเจนที่จะนำไปสู่การรวมตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคอาเซียน นับตั้งแต่การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 4 ณ ประเทศสิงคโปร์ เมื่อปี 2535 โดยได้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ขึ้น และนับแต่นั้นมากิจกรรมของอาเซียนได้ขยายครอบคลุมไปสู่ทุกสาขาหลักทางเศรษฐกิจ รวมทั้งในด้านการค้าสินค้าและบริการการลงทุน มาตรฐานอุตสาหกรรมและการเกษตร ทรัพย์สินทางปัญญา การขนส่ง พลังงาน และการเงินการคลัง เป็นต้น ความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียนที่สำคัญ มีดังนี้

1. เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area หรือ AFTA)

ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA เป็นข้อตกลงทางการค้าสำหรับสินค้าที่ผลิตภายในประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด ทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน ในฐานะที่เป็นการผลิตที่สำคัญในการป้อนสินค้าสู่ตลาดโลก โดยอาศัยการเปิดเสรีด้านการค้า การลดภาษี และยกเลิกอุปสรรคข้อกีดขวางทางการค้าที่มิใช่ภาษี เช่น การจำกัดโควต้านำเข้า รวมทั้งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีศุลกากรเพื่อเอื้ออำนวยต่อการค้าเสรี โดยข้อตกลงนี้จะครอบคลุมสินค้าทุกชนิด ยกเว้นสินค้าที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง ศีลธรรม ชีวิต และศิลปะ อย่างไรก็ตามประเทศสมาชิกต้องให้สิทธิประโยชน์ทางศุลกากรแก่กันแบบต่างตอบแทน หมายความว่าการที่ได้สิทธิประโยชน์จากการลดภาษีของประเทศอื่นสำหรับสินค้าชนิดใด ประเทศสมาชิกนั้นต้องประกาศลดภาษีสำหรับสินค้าชนิดเดียวกัน

2. เขตการลงทุนอาเซียน (ASEAN Investment Area หรือ AIA)

ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 5 เมื่อเดือนธันวาคม 2538 ที่กรุงเทพฯ ได้เห็นชอบให้จัดตั้งเขตการลงุทุนอาเซียนเพื่อเสริมสร้างอาเซียนให้เป็นเขตการลงทุนเสรีที่มีศักยภาพ โปร่งใส เพื่อดึงดูดนักลงทุนทั้งจากภายในและภายนอกภูมิภาค ความตกลงนี้ครอบคลุมการลงทุนในอุตสาหกรรม 5 สาขา คือ สาขาอุตสาหกรรมการผลิต เกษตร ประมง ป่าไม้ และเหมืองแร่ และภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับ 5 สาขาการผลิตดังกล่าวยกเว้นการลงทุนด้านหลักทรัพย์และการลงทุนในด้านซึ่งครอบคลุมโดยความตกลงอาเซียนอื่น ๆเขตการลงทุนอาเซียน กำหนดให้ประเทศสมาชิกดำเนินการเปิดอุตสาหกรรมและให้การปฏิบัติเยี่ยงคนชาติแก่นักลงทุนอาเซียนและนักลงทุนนอกอาเซียน โดยกำหนดเป้าหมายจะเปิดเสรีด้านการลงทุนแก่นักลงทุนอาเซียนภายในปี 2553 และนักลงทุนนอกอาเซียนภายในปี 2563การดำเนินการเพื่อจัดตั้งเขตการลงทุนอาเซียนประกอบด้วยโครงการความร่วมมือ 3 โครงการ คือ
- โครงการความร่วมมือและการอำนวยความสะดวก (Co-operation and Facilitation Programme)
- โครงการส่งเสริมและสร้างความเข้าใจ (Promotion and Awareness Programme)
- การเปิดเสรี (Liberalisation Programme)

3. ความริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน (Initiative for ASEAN Integration หรือ IAI)

อาเซียนได้ดำเนินการเพื่อเร่งรัดการรวมตัวของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยจัดทำ “ความริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน” (Initiative for ASEAN Integration) เพื่อลดช่องว่างด้านการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกเก่า (ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน อินโดนีเซีย) กับสมาชิกใหม่ของอาเซียน (พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) โดยให้ประเทศสมาชิกเก่าร่วมกันจัดทำโครงการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศใหม่ ครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การรวมตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อที่จะช่วยการพัฒนากรอบกฎระเบียบและนโยบาย รวมทั้งช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศ CLMV ในการลดปัญหาความยากจน ยกระดับความเป็นอยู่ของประชากร พัฒนาระบบข้าราชการ และเตรียมความพร้อมต่อการแข่งขันบนเวทีโลก

4. ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม (ASEAN Industrial Cooperation Scheme หรือ AICO)

โครงการความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมของอาเซียน หรือ AICO มุ่งส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานการผลิต โดยยึดหลักของการใช้ทรัพยากรร่วมกัน การแบ่งส่วนการผลิตตามความสามารถและความถนัด ตลอดจนส่งเสริมการลงทุนและการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากทั้งประเทศสมาชิกและประเทศนอกกลุ่มโดยใช้มาตรการทางภาษี และสิทธิพิเศษอื่นๆ ที่มิใช่ภาษีเป็นสิ่งจูงใจ โดยมีเงื่อนไขดังนี้
4.1 จะต้องมีประเทศสมาชิกเข้าร่วมอย่างน้อย 2 ประเทศ
4.2 มีบริษัทเข้าร่วมอย่างน้อย 1 บริษัทในแต่ละประเทศ
4.3 สินค้าที่ผลิตได้ขั้นสุดท้าย (AICO Final Product) จะได้รับการยอมรับเสมือนสินค้าที่ผลิตได้ในประเทศและจะไม่ถูกจำกัดด้วยระบบโควต้าหรือมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี
4.4 บริษัทที่จะขอรับสิทธิประโยชน์จาก AICO จะต้องมีสัดส่วนการถือหุ้นของคนชาติอาเซียนอย่างน้อยร้อยละ 30
4.5 ได้รับการลดภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 0 – 5
5. กรอบความตกลงด้านการค้าบริการ (ASEAN Framework Agreement on Services หรือ AFAS)
ในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 5 เดือนธันวาคม 2538 ที่กรุงเทพฯ รัฐมนตรีเศรษฐกิจ ของประเทศสมาชิกอาเซียนได้ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน หรือ AFAS) ซึ่งกำหนดให้เจรจาเปิดเสรีการค้าบริการ โดยจัดทำข้อผูกพันในด้านการเปิดตลาด (market access) การให้การปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment) และด้านอื่นๆ(additional commitments) การเจรจาเสรีการค้าบริการในช่วงปี 2539-2544 มุ่งเน้นการเปิดเสรีใน 7 สาขาบริการ
คือ สาขาการเงิน การขนส่งทางทะเล การขนส่งทางอากาศ การสื่อสารโทรคมนาคม การท่องเที่ยว การก่อสร้าง และสาขาบริการธุรกิจ ต่อมาในช่วงปี 2545-2549 ได้มีการขยายขอบเขตการเจรจาเปิดเสรีรวมทุกสาขา นอกจากนี้ สมาชิกอาเซียนยังต้องเร่งรัดเปิดตลาดในสาขาบริการที่เป็นสาขาสำคัญ 5สาขา ได้แก่ สาขาโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาสุขภาพ สาขาการท่องเที่ยว สาขาการบิน และสาขาบริการโลจิสติกส์ ทั้งนี้เพื่อให้อาเซียนมีความพร้อมในการก้าวไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ต่อไป

6. ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและอิเล็กทรอนิกส์ (e-ASEAN Framework Agreement)

ในการประชุมสุดยอดอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 24-25พฤศจิกายน 2543 ที่ประเทศสิงคโปร์ ผู้นำของอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ร่วมกันลงนามในกรอบความตกลงด้านอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน (e-ASEAN Framework Agreement) ซึ่งเป็นข้อตกลงที่กำหนดแนวทางเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสาร (Information Technology and Communication-ICT) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสาร ในภูมิภาคให้สอดคล้องกันและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีมาตรการที่ครอบคลุมด้านต่าง ๆ 5 ด้าน คือ
6.1 การพัฒนาเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของอาเซียน(ASEAN Information Infrastructure) ให้สามารถติดต่อถึงกันได้อย่างทั่วถึงกันและด้วยความเร็วสูงและพัฒนาความร่วมมือไปสู่การจัดตั้งห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Libraries) และแหล่งรวมข้อมูลท่องเที่ยวอิเล็กทรอนิกส์ (Tourism Portals) รวมถึงการจัดตั้งศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูล (Internet Exchanges) และการให้บริการเชื่อมสัญญาณเครือข่ายข้อมูลอินเตอร์เน็ต (Internet Gateways)
6.2 การอำนวยความสะดวกด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) โดยการออกกฏหมายและระเบียบด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ และมีระบบรักษาความปลอดภัยที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคและพัฒนาวัฒนธรรมในการทำธุรกิจโดยใช้อิเล็กทรอนิกส์ เช่น การยอมรับลายมือชื่อเล็กทรอนิกส์ซึ่งกันและกัน การชำระเงินโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น
6.3 ส่งเสริม และเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า บริการ และการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) โดยประเทศสมาชิกอาเซียนจะยกเลิกภาษีและอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีสำหรับสินค้า ICT เช่น เครื่องประมวลผลอัตโนมัติ เครื่องโทรสาร เครื่องบันทึกเสียงสำหรับโทรศัพท์ ไดโอดและทรานซิสเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า ฯลฯ ภายในปี 2548 สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนดั้งเดิม 6 ประเทศ และภายในปี 2553 สำหรับประเทศสมาชิกใหม่ คือ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม
6.4 สร้างสังคมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Society) เสริมสร้างความสามารถและพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์เพื่อประโยชน์ต่อสังคม ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ความสามารถด้าน IT ของบุคลากรในอาเซียน ลดความเหลื่อมล้ำด้าน IT ภายในประเทศและระหว่างประเทศสมาชิก อำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงานด้าน IT อย่างเสรี และส่งเสริมการใช้ IT
6.5 สร้างรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) ส่งเสริมให้มีการใช้ ICT ในการบริการของภาครัฐให้มากขึ้น เช่น การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การอำนวยความสะดวกในเรื่องข้อมูลข่าวสารการให้บริการของภาครัฐผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น การเสียภาษี การจดทะเบียนการค้า พิธีการศุลกากรเป็นต้น

7. ความร่วมมือด้านการเงินการคลัง (Financial Cooperation)

7.1 อาเซียนได้จัดตั้งระบบระวังภัยอาเซียน (ASEAN Surveillance Process) ขึ้น เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2541 เพื่อสอดส่องดูแลสภาวะเศรษฐกิจและการเคลื่อนย้ายเงินทุนในภูมิภาค โดยให้มีการหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศสมาชิกในภูมิภาค และในโลกโดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือทางวิชาการและเงินทุนโดยการจัดการฝึกอบรมด้านเทคนิคแก่เจ้าหน้าที่ประเทศสมาชิก และในการจัดตั้ง ASEAN Surveillance Technical Support Unit ในสำนักงานเลขาธิการอาเซียนเพื่อสนับสนุนระบบดังกล่าว
7.2 การเสริมสร้างกลไกสนับสนุนและเกื้อกูลระหว่างกันในภูมิภาคเอเชียตะวันออก (Enhancing self-help and support mechanism in East Asia) โดยได้กำหนดแนวทางความร่วมมือกับ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่สำคัญ ได้แก่ จัดทำความตกลงทวิภาคีด้านการแลกเปลี่ยนการซื้อ-ขายคืนเงินตราหรือหลักทรัพย์ต่างประเทศ หารือเกี่ยวกับการจัดตั้งระบบเตือนภัยในภูมิภาค และการแลกเปลี่ยนการหารือเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาค
7.3 ความริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative) ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2543 เป็นการปรับปรุงความตกลงแลกเปลี่ยนเงินตราอาเซียน (ASEAN Swap Arrangement – ASA) ในด้านโครงสร้าง รูปแบบและวงเงิน และให้เสริมด้วยเครือข่ายความตกลงทวิภาคีระหว่างประเทศอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลี (Bilateral Swap Arrangment-BSA) โดยได้ขยายให้ ASA รวมประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศแล้ว

8. ความร่วมมือด้านการเกษตรและป่าไม้ของอาเซียน และอาเซียน +3

ครอบคลุมความร่วมมือในด้านประมง ป่าไม้ ปศุสัตว์ พืช และอาหาร เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางด้านอาหารและความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนในด้านอาหารการเกษตรและผลผลิตป่าไม้ โครงการความร่วมมือระหว่างอาเซียนและประเทศอาเซียน+3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ภายใต้สาขาต่างๆ ดังนี้
8.1 การขจัดความยากจนและสร้างความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาคเอเชีย
8.2 การวิจัยและพัฒนาด้านอาหาร การเกษตร ประมง และป่าไม้
8.3 การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านอาหาร การเกษตร ประมง และป่าไม้
8.4 การประสานงานและร่วมมือในระดับโลกและระดับภูมิภาคในประเด็นด้านอาหาร การเกษตร ประมง และป่าไม้
8.5 การสร้างเครือข่ายข้อมูลด้านการเกษตร
8.6 การอำนวยความสะดวกด้านการค้า

9. ความร่วมมือด้านการขนส่ง

9.1 โครงการพัฒนาทางหลวงอาเซียน (ASEAN Highway Network Project) ลักษณะของโครงข่ายทางหลวงอาเซียน คือ มีทางหลวงครอบคลุม 23 สาย ทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน และจัดทำมาตรฐานทางหลวงอาเซียน (ป้ายจราจร สัญญาณ และระบบหมายเลข)ให้เป็นแบบเดียวกันโดยกำหนดมาตรฐานทางหลวงอาเซียน เป็น 4 ระดับ ได้แก่
- ชั้นพิเศษ-ทางด่วน ที่ควบคุมทางเข้า-ออก สมบูรณ์แบบ
- ชั้นที่ 1 ทางหลวง 4 ช่องจราจร
- ชั้นที่ 2 ทางหลวงลาดยาง 2 ช่องจราจร ผิวทางกว้าง 7 เมตร
- ชั้นที่ 3 ทางหลวงลาดยาง 2 ช่องจราจร ผิวทางกว้าง 6 เมตร
9.2 กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวก ในการขนส่งสินค้าผ่านแดน (ASEAN Framework Agreement on the Facilitation of Goods in Transit) มีวัตถุประสงค์ที่จะให้ประเทศสมาชิกอาเซียนอนุญาตให้รถยนต์ขนส่งที่จดทะเบียนในประเทศสมาชิกหนึ่งสามารถขนส่งสินค้าผ่านแดนไปยังอีกประเทศหนึ่งได้
9.3 ความตกลงหลายฝ่ายและพิธีสารว่าด้วยการเปิดเสรีบริการขนส่งเฉพาะสินค้าของอาเซียน (Multilateral Agreement on the Full Liberalization of All Cargo Air Services) มีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมการขนส่งสินค้าในอาเซียนด้วยกัน โดยเปิดเสรีเที่ยวบินขนส่งเฉพาะสินค้าระหว่างประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยไม่มีข้อจำกัดทั้งในเรื่องของจำนวนความจุความถี่ของบริการเส้นทางบินและสิทธิรับขนการจราจร ซึ่งจะทำให้การขนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศในอาเซียนเป็นไปได้อย่างสะดวก อันจะส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมในภูมิภาคสามารถเจริญเติบโตขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
9.4 ความตกลงหลายฝ่ายและพิธีสารว่าด้วยการเปิดเสรีบริการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศของอาเซียน (Multilateral Agreement on the Liberalization of Passenger Air Services) การจัดทำความตกลงหลายฝ่ายว่าด้วยการเปิดเสรีการบินในส่วนของเที่ยวบินขนส่งโดยสาร เป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าของไทยและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้มีการเปิดเสรีการบิน และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคนี้ด้วย

10. ความร่วมมือด้านพลังงานในอาเซียน (ASEAN Energy Cooperation)

มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและความยั่งยืนในการจัดหาพลังงาน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในภูมิภาคอาเซียน และการจัดการด้านความต้องการพลังงานอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสภาพสิ่งแวดล้อม และการช่วยเหลือกันในการแบ่งปันปิโตรเลียมในภาวะฉุกเฉิน โครงสร้างความร่วมมือด้านพลังงาน ประกอบด้วย การประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนคณะทำงาน และคณะกรรมการ ใน 5 สาขา ได้แก่
10.1 คณะทำงานด้านถ่านหิน
10.2 คณะทำงานด้านประสิทธิภาพพลังงานและการอนุรักษ์พลังงาน
10.3 คณะทำงานด้านพลังงานใหม่และพลังงาน
10.4 คณะกรรมการด้านปิโตรเลียม ซึ่งประกอบด้วยบริษัทน้ำมันแห่งชาติของประเทศสมาชิกอาเซียน
10.5 คณะกรรมการด้านการไฟฟ้า ซึ่งประกอบด้วยผู้ว่าการการไฟฟ้าของแต่ละประเทศการดำเนินการระยะแรกของโครงการเครือข่ายด้านพลังงานอาเซียนครอบคลุม 2 โครงการหลัก คือ โครงการเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าอาเซียน และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติอาเซียน

11. ความตกลงด้านการท่องเที่ยวอาเซียน (ASEAN Tourism Agreement)

ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในกรอบอาเซียนและอาเซียน + 3 ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 8 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2545 ได้ลงนามในความตกลงด้านการท่องเที่ยวอาเซียน (ASEAN Tourism Agreement) เพื่อส่งเสริมให้อาเซียนเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว โดยเน้นความร่วมมือใน 7 ด้าน คือ การอำนวยความสะดวกการเดินทางในอาเซียนและระหว่างประเทศ การอำนวยความสะดวกด้านขนส่งการขยายตลาดการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ความปลอดภัยและความมั่นคงของการท่องเที่ยว การตลาดและการส่งเสริมร่วมกัน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
อาเซียนจัดการประชุมด้านการท่องเที่ยว (ASEAN Tourism Forum หรือ ATF) เป็นประจำทุกปีในเดือนมกราคม โดยหมุนเวียนจัดในประเทศสมาชิก นับเป็นการประชุมด้านการท่องเที่ยวที่ยิ่งใหญ่และประสบผลสำเร็จมากที่สุดในโลก โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการท่องเที่ยวของอาเซียน โรงแรม รีสอร์ท สายการบิน ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว รวมถึงนักเขียนด้านการท่องเที่ยวมีโอกาสทำความรู้จักและเจรจาธุรกิจด้านการท่องเที่ยว และอาเซียนยังได้ริเริ่มความร่วมมือในการจัดทำความตกลงการตรวจลงตราเพียงครั้งเดียว (Single Visa) แต่ใช้เดินทางได้หลายประเทศโดยนำร่องโดยไทยและกัมพูชา
นอกจากนี้ ความตกลงด้านการท่องเที่ยวยังได้ขยายไปยังประเทศอาเซียน+3 เกาหลี จีน ญี่ปุ่น โดยมีความร่วมมือระหว่างองค์การท่องเที่ยวของไทยกับของเกาหลีเพื่อพัฒนาศักยภาพของมัคคุเทศก์ไทย และให้ประเทศ+3 เสนอแนวทางความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนที่ชัดเจนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น